เพื่อนนักสะสมที่มีใจรักและชื่นชอบสะสมแต่พระแท้

***ผมได้สร้างเว็บบล็อคในเชิงวิชาการ เพื่อต้องการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้กับเพื่อนนักสะสมพระเครื่องที่มีใจรักและชื่นชอบสะสมแต่พระแท้และนักสะสมมือใหม่ ให้เข้ามาร่วมศึกษาเป็นแนวทางในการสะสมอย่างถูกทาง โดยมิได้มีผลประโยชน์หรือค่าตอบแทนใดๆแอบแฝง เป็นไปด้วยใจรักและชื่นชอบการสะสมพระเครื่องเช่นเดียวกับท่าน

***เว็บบล็อคพระแท้นี้ได้เวียนมาบรรจบครบรอบ 1 ปี เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2522 ได้รับเมล์จากเพื่อนนักสะสมแสดงความขอบคุณและให้กำลังใจอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งเมล์จากผู้ไม่หวังดีซึ่งยืมเมล์ผู้อื่นส่งมาต่อว่าและคำขู่ต่างๆนาๆ ไม่เป็นไรครับผมได้อโหสิกรรมให้ครับ...

***พระเครื่องที่ได้นำเสนอส่วนใหญ่จะเป็นชนิดเนื้อโลหะเหรียญปั๊มและสามารถหาข้อยุติได้ที่ตัวตัดขอบข้างเหรียญ...ตัวอย่างของแท้ที่นำเสนอให้ศึกษากันนั้น เป็นของเก่าที่ได้เก็บสะสมมานานนับ 20-30 ปี และมีบางส่วนได้รับความเอื้อเฟื้อภาพจากนักสะสม บางรายการไม่มีตัวตัดขอบข้างเหรียญ แต่ในภาพรวมแล้วจะเป็นพระแท้ที่ดูง่ายและชัดเจนอีกทั้งมีรูปภาพพระไม่แท้ประกอบให้เปรียบเทียบ

***หมายเหตุ ข้อมูลในเว็บบล็อคนี้ ทั้งหมดได้รวบรวมจากประสบการณ์ที่สะสมมานานและบวกข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ .....ที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีสายตรงสายใดทักท้วงข้อผิดพลาด สำหรับเพื่อนนักสะสมไม่จำเป็นต้องยึดถือข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อยุติครับ***

วันศุกร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

33.พระปิดตามหาลาโภ หลวงปู่สิม พุทธจาโร





พระปิดตารุ่นแรก หลวงปู่สิม พุทธาจาโร พระปิดตามหาลาโภ เนื้อนวโลหะ นับเป็นพระปิดตารุ่นแรกของหลวงปู่สิม พุทธาจาโร ทางวัดมัชฌันติการาม(วัดน้อย) ได้ขออนุญาตจัดสร้างเพื่อหาปัจจัยก่อสร้างศาลาบำเพ็ญกุศล โดยหลวงปู่ได้ปลุกเสกให้เป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากเป็นวัดฝ่ายธรรมยุตินิกายและเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรมเป็นสาขาหนึ่งของวัดบวรนิเวศวิหาร ....ในชุดพิธีเดียวกันนี้มี พระปิดตามหาลาโภ พระปิดตามหาลาโภเนื้อผงและเหรียญมหาลาโภ สร้างปี.๒๕๑๗

พระปิดตามหาลาโภ หลวงปู่สิม พุทธาจาโร เนื้อนวโลหะ หลวงปู่อธิฐานจิตเป็นกรณีพิเศษให้กับวัดมัชฌันติการาม กทม. เมื่อวันที่ 28 พย. พศ.2517 สร้างก่อนพระปิดตาราชาอุตโม ปี.2518 ซึ่งว่านับเป็นรุ่นแรกก็ไม่ผิด...จำนวนการสร้างน่าจะน้อยกว่ามากสังเกตุได้จากในสนามพระไม่ค่อยได้เห็นมีออกมาหมุนเวียนเท่าไรนัก....พระปิดตามหาลาโภจะมีเอกลักษณ์คือทุกองค์จะมีขี้เบ้าติดตามตัวองค์พระ ถ้าสภาพเดิมๆขี้เบ้าจะเกาะเต็มองค์พระ ถึงแม้จะผ่านการล้างผิวมาอย่างไรก็คงมีขี้เบ้าตกค้างตามซอกเล็กซอกน้อยแน่นอน ทำให้ง่ายต่อการพิจารณาพระแท้ ซึ่งพระเก๊ไม่สามารถทำเลียนแบบตัวขี้เบ้าได้เหมือนอย่างแน่นอน ทำให้พระปิดตามหาลาโภได้รับความนิยมสูงราคาเช่าหาแซงพระปิดตาราชาอุตโมไปแล้วครับ.

ประวัติวัดมัชฌันติการาม(วัดน้อย)
วัดมัชฌันติการาม เป็นวัดราษฎร์ เป็นวัดของคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตินิกายหน้าวัดติดกับคลองบางเขนใหม่โดยมีซอยวงศ์สว่าง 11 ผ่านเขตแยกวัดกับโรงเรียนวัดมัชฌันติการามอยู่คนละฝั่งซอย เลขที่วัด 102 วัดมัชฌันติการาม ถนนวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ

เจ้าจอมมารดาเที่ยง ผู้ได้ให้การอุปถัมภ์ในการสร้างวัด เริ่มต้นนั้นไม่ทราบแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด มีผู้สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เจ้าจอมมารดาเที่ยง เจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ 4 ทรงเข้ามาอุปถัมภ์ในปีพุทธศักราช 2417 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “วัดมัชฌันติการาม” เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ เจ้าจอมมารดาเที่ยง ผู้ทรงอุปถัมภ์ต่อการสร้างวัด

การตั้งชื่อวัดนั้นก็เนื่องมาจาก เจ้าจอมมารดาเที่ยงเป็นผู้อุปถัมภ์ ในรัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “มัชฌันติการาม” ตามชื่อของผู้อุปถัมภ์ในการสร้างวัด คือ มัชฌันติก และอารามซึ่งแปลมาตัวว่า เที่ยง และ วัด เมื่อรวมกันจึงแปลได้ว่า “วัดของเจ้าจอมมารดาเที่ยง” คนส่วนมากชอบเรียกว่า วัดน้อย เพราะง่ายต่อการออกเสียงกว่าคำว่าวัดมัชฌันติการาม

สันนิษฐานว่าการเรียกวัดน้อยนี้ เพราะเป็นวัดของเจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ 4 ซึ่งให้การอุปถัมภ์ ชาวบ้านทั่วไปถือว่า เป็นนางสนม เพื่อให้เข้าใจง่ายคู่กับวัดหลวง ซึ่งเป็นวัดของภรรยาหลวงให้การอุปถัมภ์เช่นเดียวกัน (อยู่ในซอยถัดไป ปัจจุบันวัดหลวงไม่มี เหลือแต่ที่ดินของวัด ซึ่งสำนักงานศาสนสมบัติ สำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นผู้ดูแลอยู่)

เนื่องจากการคมนาคมไม่สะดวกในสมัยก่อน จึงมีพระอยู่จำพรรษาไม่กี่รูปต้องไปนิมนต์พระจากวัดอื่นมาอยู่จำพรรษาเช่น วัดราชาธิวาส วัดปทุมวนาราม วัดราชบพิธ และวัดบวรนิเวศวิหาร จนต่อมามีการตัดถนนวงศ์สว่างผ่านด้านหลังวัด ทางวัดพร้อมด้วยอุบาสกอุบาสิกา มีลุงแม้น-ป้าทองใบ ใบสนและราษฎรผู้มีจิตศรัทธา ช่วยกันบริจาคที่ดินตัดถนนเข้าวัดในสมัยพระครูวิจิตรธรรมสาร (อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ 7)

หลังจากนั้นทางวัดได้ขออนุญาตเปิดโรงเรียนพระปริยัติธรรมทั้งแผนกนักธรรมและบาลีขึ้น โดยเป็นสาขาของวัดบวรนิเวศวิหาร จึงเป็นเหตุให้มีพระภิกษุสามเณรเข้ามาศึกษาเล่าเรียนเป็นจำนวนมาก ในแต่ละปีมีพระภิกษุสามเณรสอบได้ทั้งนักธรรมและบาลีเป็นจำนวนมาก จนได้รับการยกย่องจากพระเถรานุเถระชั้นผู้ใหญ่ตลอดมา

ไม่มีความคิดเห็น: